 |
|
 |
|
 |
|
บทความโดย บุญเพียร แก้ววงค์น้อย
ตีพิมพ์ในวารสารพุทธจักร ม.มหาจุฬาลงกรณ์ฯ และวารสารข่วงผญา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ |
เวียดนาม มังกรน้อยแห่งอินโดจีน
ความนำ
บทความฉบับนี้เป็นการเรียงร้อยจากประสบการณ์ตรงที่ผู้เขียนได้จาริกเดินทางไปเยือนประเทศเวียดนาม เพื่อศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ในประเทศเวียดนาม เช่น วิถีชีวิต ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวเป็นต้น เนื่องจากเวียดนามเป็นประเทศที่ปิดตัวมานาน อีกทั้งอยู่ในภาวะสงครามเป็นเวลายาวนาน เพิ่งเปิดตัวต่อสมาคมโลกเมื่อไม่นานมานี้เอง |
 |
เวียดนาม นับเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของเอเชีย มีทรัพยากรธรรมชาติที่งดงาม วิถีชีวิตของผู้คนโดยทั่วไปเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย เป็นดินแดนสุดท้ายปลายทางแห่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำโขง สภาพภูมิประเทศมีภูเขา ทุ่งนา สลับกับแม่น้ำสายเล็กสายใหญ่ ที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวเวียดนามมาหลายชั่วคน
งานด้านศาสนาก็น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเวียดนามเป็นเสมือนแหล่งประสานกันทางวัฒนธรรมจากอินเดียและจีนอย่างลงตัว เพราะประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศ เช่น ไทย พม่า ลาว กัมพูชา ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินเดียเป็นหลัก แต่สำหรับเวียดนามแล้ว ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากจีน ส่วนด้านศาสนาได้รับจากอินเดียเป็นส่วนมาก ดังนั้น ในเวียดนามจึงมีพระพุทธศาสนาทั้งสองนิกาย คือมหายานและเถรวาท ซึ่งแตกต่างจากประเทศเอเชียโดยทั่วไป
คนไทยได้รู้จักประเทศเวียดนามมากขึ้น เมื่อเวียดนามได้เป็นเจ้าภาพจัดงานแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ ๒๒ ที่กรุงฮานอย นับเป็นการเปิดตัวต่อสายตาชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างงดงาม ประเทศเวียดนามมีชื่อเต็มว่า “สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม” (Socialist Republic of Vietnam) ปกครองโดยระบบสังคมนิยม โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนามเป็นผู้บริหารประเทศ มีประชาการ ๘๕ ล้านคน (พ.ศ. ๒๕๕๕)
|
|
เวียดนาม ได้ตกอยู่ในวังวนแห่งสงครามหลายครั้งหลายคราว มีประวัติศาสตร์ที่แสนจะขมขื่นและน่าชื่นชม กล่าวคืออดีตของชาวเวียดนามต้องทนทุกข์ทรมานกับสงคราม ทั้งสงครามกอบกู้เอกราชกับฝรั่งเศส สงครามกับอเมริกา และสงครามรวมประเทศระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ แต่ในขณะเดียวกัน สภาวะสงครามที่บีบคั้นนั้น ทำให้ชาวเวียดนามมีเลือดความเป็นนักสู้อยู่เต็มหัวใจ จนสามารถเอาชนะกองกำลังของมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศสและอเมริกาได้อย่างเหลือเชื่อ อันเนื่องมาจากความทรหดอดทน ความทุ่มเท และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวเวียดนาม จนทำให้สามารถยืนหยัดและพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็ว ทำเอาประเทศใกล้เคียง ต่างเพ่งดูด้วยความฉงนว่าเหตุใดประเทศที่เพิ่งผ่านสงครามมาไม่นานนี้จะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของหลายประเทศในอนาคต
|

หมวกโนนลา เป็นสัญลักษณ์ของเวียดนาม |
สถาปัตยกรรมเวียดนามได้รับอิทธิพลจากจีน
|

ชาวพุทธเวียดนามกำลังสวดมนต์เย็น |

วัดมหายานในกรุงโฮจิมินห์
|

บัณฑิตมหาวิทยาลัยสงฆ์ กรุงฮานอย
|

ชาวเวียดนามมีความมุ่งมั่น ขยันเป็นเลิศ
|
คนไทยเรียกคนเวียดนามว่า “ญวน” เมื่อนึกถึงคนญวน หรือคนเวียดนาม ก็จะเห็นภาพหญิงชาวเวียดนามนุ่งอ๋าวหย่ายซึ่งเป็นชุดประจำชาติ และใส่งอบ หรือชาวเวียดนามเรียกว่า “โนนลา” ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยและเวียดนามมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ทั้งในส่วนของรัฐบาลและประชาชนทั่วไป
การเดินทาง
ผู้เขียนได้เดินทางไปประเทศเวียดนาม และใช้ชีวิตสัญจรและคลุกคลีอยู่กับชาวเวียดนามหลายวัน อันที่จริงผู้เขียนได้เดินทางไปประเทศกัมพูชาก่อน แล้วไปเวียดนาม จากนั้นก็ไปกรุงเวียงจันทน์ เมืองเชียงขวาง และหลวงพระบางของลาว รวมเวลาการเดินทางสู่อินโดจีนทั้งสิ้น ๓๘ วัน แต่อยู่ในเวียดนาม ๑๕ วัน ผู้เขียนเดินทางจากกรุงพนมเปญของกัมพูชาสู่กรุงโฮจิมินห์ซิตี้ (Ho Chi Minh City) ภาคใต้ของเวียดนาม หรือเวียดนามใต้ ด้วยรถโดยสารประจำทาง ซึ่งใช้เวลาเดินทางหนึ่งวันเต็ม ซึ่งขณะนั้นยังเป็นถนนลูกรังกำลังก่อสร้าง การสัญจรค่อนข้างลำบาก อีก ๗ วันต่อมา ก็ได้เดินทางต่อไปยังเวียดนามกลาง คือเมืองเว้ (Hue) ต่อมาก็ไปยังกรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม หรือเวียดนามเหนือ ตลอดจนเมืองฮาลอง เมืองไฮฟอง ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงฮานอยประมาณ ๑๒๕ กิโลเมตร
|
การเดินทางไปครั้งนี้ ผู้เขียนไปในฐานะนักท่องเที่ยวแบบสะพายกล้องท่องเที่ยวไป จึงอาศัยโอกาสนี้ศึกษาวิถีชีวิต สภาพความเป็นอยู่ ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม ในขณะเดียวกันก็ได้ไปเที่ยวชมสถานที่สำคัญและสถานที่ท่องเที่ยวของเวียดนามด้วย บางคราวก็พักวัดกับพระเวียดนาม บางคราวก็พักเกสท์เฮ้าส์ ที่พยายามสรรหาราคาถูกๆ คืนละ ๔-๕ เหรียญดอลล่าร์
การเดินทางไปเวียดนามของผู้เขียนเป็นการไปครั้งแรกและไม่เคยรู้จักใครในเวียดนามมาก่อน จึงวางแผนว่าจะไปหาข้อมูลเอาดาบหน้า เมื่อพักที่ใดก็จะสอบถามข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับสถานที่สำคัญกับคนในท้องถิ่น หรือสอบถามจากคนขับรถซิกโคล่ ซึ่งเป็นรถสามล้อรับจ้าง เมื่อไปเยี่ยมวัดแห่งหนึ่งแล้วก็จะสอบถามพระภิกษุ หรือภิกษุณีในวัดนั้นๆ เพื่อให้เขาแนะนำวัดสำคัญๆ ทั้งมหายานและเถรวาทไปพร้อมๆ กัน
จากการแนะนำของพระมหายาน ทำให้ผู้เขียนได้ไปพักอยู่ที่วัดกี่เหวียน (Ky Vien) เป็นเวลา ๕ วัน (คำว่ากี่เหวียนเป็นสำเนียงเวียดนาม มาจากคำว่า เชตะวัน) ซึ่งเป็นวัดเถรวาท อยู่ใจกลางเมืองโฮจิมินห์ เจ้าอาวาสและพระลูกวัดอีก ๑ รูป เคยเดินทางมาเมืองไทย ที่วัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี พระเถรวาทในเวียดนามรู้จักประเทศไทยและพระพุทธศาสนาในไทยเป็นอย่างดี |

จักรยาน พาหนะที่ใช้ในการสู้กับฝรั่งเศสจนพ่ายแพ้
|
หญิงสาวชาวเวียดนาม ถือปืนต่อสู้กับทหารอเมริกัน |
พระภิกษุเถรวาทในเมืองหวุงต่าว (Vung Tau) |
พระพุทธศาสนาในเวียดนาม
พระเถรวาทในเวียดนามจะมีอยู่ ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มพระชาวเวียดนามซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ และกลุ่มพระชาวกัมพูชา ที่มีวัดเขมรในเวียดนาม พระชาวเวียดนามส่วนใหญ่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดี ผู้เขียนได้พูดคุยกับพระเถระรูปหนึ่งซึ่งท่านพูดอังกฤษไม่ได้ แต่สามารถพูดภาษาบาลีได้ดี ทำให้ต้องคิดศัพท์บาลีมาคุยกับท่านโดยไม่ถนัดนัก ชาวพุทธเถรวาทในเวียดนามยังคงปฏิบัติเคร่งครัด ซึ่งมีทั้งพระภิกษุ สามเณรและแม่ชี ไม่มีภิกษุณีเหมือนวัดมหายาน ฉันอาหาร ๒ มื้อ
ท่านสุวิทโจ พระวัดกี่เหวียนได้พาผู้เขียนไปเยี่ยมบ้านโยมของท่านที่จังหวัดหวินหล่อง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงโฮจิมินห์ และพักอยู่ที่บ้านของท่านสุวิจโจเป็นเวลา ๑ คืน เป็นหมู่บ้านที่ติดกับแม่น้ำโขงก่อนจะไหลลงสู่ทะเลเพียงไม่กี่กิโลเมตร ครอบครัวของชาวเวียดนามที่นี่ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเกษตรกร เฉพาะแต่ครอบครัวของท่าน
สุวิจโจมีสวนประมาณ ๔๐๐ ไร่ ปลูกผลไม้หลากหลายชนิด ทั้งลำไย เงาะ ส้ม ส้มโอ ทุเรียน เป็นต้น ที่ส่วนใหญ่เป็นที่ชื้น มีลำคลองไหลผ่านเป็นสายๆ ซึ่งเป็นคลองน้ำที่ผันมาจากแม่น้ำโขง จึงทำให้ชาวบ้านมีอาชีพปลูกผลไม้ขายเป็นอาชีพหลัก
วิถีชีวิตชาวเวียดนาม
แต่เมื่อผู้เขียนนั่งรถไฟจากกรุงโฮจิมินห์ไปเมืองเว้ (ภาคกลาง) และจากเมืองเว้ ไปกรุงฮานอย (ภาคเหนือ) จะพบเห็นท้องทุ่งนาของชาวเวียดนามสลับกับทิวเขาไปเป็นระยะ เห็นวิถีชีวิตของชาวเวียดนามกับการทำนาอยู่ท้องทุ่ง ผู้หญิงจะสวมหมวกงอบโนนลา หรือหมวกญวนเป็นสัญลักษณ์ที่ติดตาคนต่างชาติเป็นอย่างดี |
โดยเฉพาะตอนที่แสงแดดอ่อนๆ สาดส่องมากระทบกับงอบญวนกับรวงข้าวสีทอง ทำให้นึกถึงภาพของหนังเวียดนามที่เคยดูตอนเด็กๆ แต่มีสิ่งหนึ่งที่มีอยู่คู่กับท้องไร่ท้องนาของชาวเวียดนามก็คือหลุมฝังศพของญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ชาวเวียดนามทุกศาสนาจะไม่เผาศพ แต่จะนำไปฝังในที่ไร่ที่นาของตนเอง แล้วก่อปูนเป็นฮวงจุ้ย เนื่องจากชาวเวียดนามได้รับอิทธิพลทางความเชื่อและวัฒนธรรมด้านอื่นๆ มาจากจีน คือการบูชาบรรพบุรุษ โดยเชื่อว่าบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว จะยังคอยปกปักรักษาดูแลคนรุ่นหลัง ความเชื่อนี้ได้ปลูกฝังให้คนเวียดนามมีความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพชนอย่างลึกซึ้ง
ดังนั้น ท้องทุ่งนาของเวียดนามจึงมีสภาพเป็นป่าช้าไปในตัว สามาถมองเห็นหลุมฝังศพเป็นจุดๆ อย่างไม่เป็นระเบียบ แต่ถ้าเป็นในเมือง มักจะมีสุสานบรรพชนอยู่ในที่ต่างๆ เช่นที่สาธารณะ วัด บางแห่งอยู่หลังโรงแรมก็มี
ในแต่ละครอบครัว จะประกอบพิธีบูชาบรรพบุรุษในทุกๆ ปี ในวันนั้น เหล่าญาติพี่น้องจะมารวมตัวกันเพื่อประกอบพิธี และรับประทานอาหารร่วมกัน โดยลักษณะครอบครัวของชาวเวียดนามยังคงเป็นครอบครัวขยายเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นในเมืองใหญ่ที่เปลี่ยนสภาพเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น
|
ชุดอ๋าวหย่าย (Ao Dai) กับหมวกโนนลา
|

ชุดนักเรียนและนักศึกษา |

พิณ เครื่องดนตรีพื้นบ้าน |

พระภิกษุเถรวาท วัดกี่เหวียน กรุงโฮจิมินห์
|
|
การนับถือศาสนาของชาวเวียดนาม
ชาวเวียดนามประมาณร้อยละ ๘๐ นับถือพระพุทธศาสนา นอกจากนั้นประมาณร้อยละ ๑๐ นับถือศาสนาคริสต์ ส่วนที่เหลือนับถือลัทธิขงจื้อ เต๋า บางคราวก็นับถือแบบผสมผสาน ในศาลเจ้าทั่วๆ ไปนอกจากจะมีพระพุทธรูปแล้ว มักจะมีรูปเคารพของเทพเจ้าต่างๆ ที่ชาวเวียดนามนับถือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีน
ในส่วนของพระพุทธศาสนาในเวียดนามประมาณร้อยละ ๙๐ นับถือแบบมหายาน รองลงมาคือนิกายเถรวาท ซึ่งมีวัดแบบเถรวาทประมาณ ๗๐ วัด บางแห่งเป็นวัดเขมร มีตั้งแต่เวียดนามใต้ถึงเวียดนามกลาง เฉพาะกรุงโฮจิมินห์ซิตี้ มีวัดเถรวาทถึง ๑๗ วัดซึ่งมีมากกว่าจังหวัดอื่น ส่วนที่เวียดนามเหนือคือฮานอยและจังหวัดใกล้เคียง นับถือแบบมหายานเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีพุทธศาสนานิกายท้องถิ่นของเวียดนาม คือนิกายคัทเส (Khet Si) ซึ่งพระภิกษุแต่งกายเหมือนเถรวาท แต่ศึกษาพระไตรปิฎกทั้งของมหายานและของเถรวาท นิกายนี้ไม่คอยเป็นที่ยอมรับของพระภิกษุเถรวาท เพราะเห็นว่าประพฤติออกนอกทางจากพระธรรมวินัย
ที่กรุงโฮจิมินห์ หรือเมืองไซง่อนเก่า (Sai Gon) ออกเสียงให้ถูกตามชาวเวียดนามว่า “ซาย ก่อน” มีวัดเถรวาท ๑๗ วัด ซึ่งแต่ละวัดมีการติดต่อไปมาหาสู่กัน พระภิกษุสามเณรวัดเถรวาทมีการนุ่งห่มผ้าเหมือนพระไทย เพียงแต่ตอนอยู่ในวัดไม่นุ่งบิด ไม่โกนคิ้ว ฉันข้าวสองมื้อ บางวัดมีการเรียนการสอนภาษาบาลี พระเถระบางรูปสามารถพูดภาษาบาลีได้
|
วัดมหายานในเวียดนาม
วัดมหายานในเวียดนามมี ๓ ลักษณะ คือ (๑) วัดที่มีทั้งภิกษุและภิกษุณีอยู่รวมกัน เช่น วัดควนซือ ในเมืองฮานอย (๒) วัดที่มีแต่พระภิกษุ เช่นวัดหวินเหงี่ยม ในกรุงโฮจิมินห์ (๓) วัดที่มีแต่ภิกษุณีล้วน ซึ่งมีอยู่ทั่วไปทั้งกรุงโฮจิมินห์และกรุงฮานอย จังหวัดอื่นๆ ผู้เขียนใช้เวลาไปเยี่ยมชมวัดเวียดนาม ทั้งที่เป็นวัดมหายานและเถรวาทมากกว่าการไปเยี่ยมชมที่อื่นๆ สิ่งที่ประทับใจในการไปเยี่ยมชมวัดคือ เมื่อเราไปถึงวัด ทางวัดจะต้อนรับด้วยการเอาน้ำเย็นและผ้าเย็นมาให้
ต่อจากนั้นภิกษุหรือภิกษุณีจะพาไปวิหารหรือห้องพระ แล้วจุดธูปส่งให้ผู้เขียนเพื่อนำไปปักบูชากระถางธูปหน้าพระประธาน ส่วนเจ้าของสถานที่จะเดินตรงไปที่ระฆังใกล้ๆ ซึ่งมีอยู่ในวิหารทุกหลัง แล้วเคาะระฆังเป็นจังหวะ เพื่อบอกกล่าวแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์และเทพาอารักษ์ในวัดให้ทราบว่ามีแขกมาเยี่ยมเยียน สิ่งที่น่าสังเกตคือผู้เขียนมีความรู้สึกที่ต่างกันเมื่อไปเยี่ยมชมวัดภิกษุและภิกษุณี คือ วัดภิกษุณีจะให้การต้อนรับดีเป็นพิเศษ ถึงแม้ว่าภิกษุณีส่วนใหญ่จะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ผู้เขียนก็จะพยายามทั้งทายด้วยภาษาเวียดนามว่า “ซินจ่าว” (Xin Chao) แปลว่า “สวัสดี” และกล่าวคำขอบคุณเมื่อเขานำน้ำมาให้ว่า “ก๋ามเอิ่น” (Cam on) แปลว่า “ขอบคุณ” แต่มิตรภาพและไมตรีจิตที่ภิกษุณีแสดงออกมานั้นสร้างความประทับใจแก่ผู้เขียนเป็นอย่างยิ่ง แม้พบภิกษุณีกำลังหาบกระบุงเดินผ่าน หากเห็นพระภิกษุเดินผ่าน ก็ยังวางหาบลงแล้วยกมือไหว้ทำความเคารพ |
 |
ชายพุทธเวียดนามกำลังสวดมนต์ตอนเย็น |
ผู้เขียนได้พบภิกษุณีเจ้าอาวาสวัดติ๋วเหงี่ยม (Tu Nghiem) หรือ Chua An-Quang ตั้งอยู่ที่ถนนบาฮัท กรุงโฮจิมินห์ อายุ ๘๐ ปี ซึ่งเคยอยู่ในเหตุการณ์การเผาตัวเองเพื่อประท้วงรัฐบาลของพระภิกษุ ทิจ กวาง ดึ๊ก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาลเวียดนามใต้สมัยประธานาธิบดีโงดินเดียม ที่ได้กดขี่ข่มเหงชาวพุทธ และสังหารพระภิกษุสามเณร แม่ชีและทำลายวัดวาอารามจำนวนมาก เมื่อผู้เขียนถามถึงเหตุการณ์การเผาตัวเองประท้วงของพระทิจ กวาง ดึ๊ก และรูปอื่นๆ ท่านก็พูดด้วยอาการสลดใจ จากนั้นท่านก็พาผู้เขียนไปเคารพอัฐิของพระทิจกวางดึ๊ก ซึ่งเก็บไว้ในวิหารใกล้ห้องรับแขก ท่านบอกว่าอยากเดินทางไปเที่ยวเมืองไทย จึงขอให้ผู้เขียนเขียนที่อยู่ให้ก่อนลากลับ ท่านได้บอกให้ภิกษุณีลูกศิษย์ไปเอาผ้าจีวรสีเหลืองมาสวมให้แล้วคุกเข่ากับพื้น กราบแสดงความเคารพผู้เขียน (ขณะนั้นเป็นพระ) เป็นภาษาเวียดนามประมาณ ๒ นาที แล้วผู้เขียนก็ลากลับ วันต่อมาผู้เขียนได้ไปเคารพเจดีย์อัฐิของพระเถระรูปสำคัญของเวียดนาม คือ พระทิจ กวาง ดึ๊ก ที่ได้เสียงสละชีพเผาตัวเองเพื่อประท้วงการปกครองที่กดขี่ข่มเหงและทารุณกรรมของรัฐบาลเวียดนามใต้ในสมัยนั้น จนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก เจดีย์อัฐิสร้างขึ้นที่ข้างถนนสี่แยกไฟแดงกลางเมืองโฮจิมินห์ ในที่เดียวกันกับที่ท่านนั่งเผาตัวเองจนมรณภาพโดยไม่แสดงอาการทุรนทุรายขณะถูกไฟคลอก ทุกวันวิสาขบูชาของทุกปีจะมีพระภิกษุ ภิกษุณี และญาติโยมพากันมาเคารพเจดีย์กันอย่างเนืองแน่น
|
ส่วนวัดภิกษุมหายาน ก็ให้การต้อนรับดีพอสมควร เพียงแต่บางวัดยังมีความระแวงอยู่บ้างตามธรรมดาของประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิตส์ เนื่องจากผู้เขียนไปแบบนักท่องเที่ยวเพียงคนเดียว อีกทั้งยังถือกล้องถ่ายรูปภาพต่างๆ ภายในวัด ผู้เขียนประทับใจมากที่สุดสำหรับวัดภิกษุมหายาน คือตอนที่ไปเยี่ยมชมวัด “ควนซือ” เป็นวัดใหญ่ในกรุงฮานอย ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยเสด็จไปเยี่ยมเมื่อคราวเสด็จเยือนประเทศเวียดนาม ที่วัดนี้มีทั้งภิกษุภิกษุณีและแม่ชีจำนวนประมาณ ๓๐๐ รูป ขณะเดินชมวัดก็ได้มีภิกษุณี ๑ รูปและแม่ชีอีก ๑ รูป พาผู้เขียนเดินชมวัดและตอบคำถามทุกข้อสงสัยของผู้เขียน วัดนี้ยังเป็นมหาวิทยาลัยสำหรับการศึกษาพุทธศาสนาอีกด้วย (Vietnamese Buddhist University in Hanoi) อีกวัดหนึ่งที่น่าสนใจคือวัดหวินเหงี่ยม (Vinh Nghiem) อยู่ถนน Nguyen Van Troi กลางเมืองโฮจิมินห์ เป็นวัดขนาดใหญ่และเก่าแก่ วัดแห่งนี้ยังเป็นศูนย์ศึกษาพระธรรมของพระภิกษุที่มาจากวัดต่างๆ จำนวนมาก บรรยากาศการศึกษาธรรมะของพระภิกษุในวัดนี้เป็นไปอย่างเอาจริงเอาจัง โดยใช้ห้องประชุมใหญ่เป็นห้องบรรยายธรรมสำหรับพระอาจารย์ผู้สอน ผู้เรียนเกือบทั้งหมดเป็นภิกษุสามเณรมหายาน นอกนั้น มีพระนิกายคัทเสปะปนอยู่เพียงไม่กี่รูป ซึ่งดูแล้วนึกว่าพระไทยหรือลาว เพราะการนุ่งห่มจีวรเหมือนพระไทยไม่มีผิด |
ภิกษุณีเจ้าอาวาสและลูกศิษย์ |
พิธีทอดกฐิน (แห่กฐิน) ที่วัดปรมัตถาราม ตอนใต้เวียดนาม |
ผู้เขียนได้ไปร่วมงานทอดกฐิน (Kathina Ceremony) ประจำปี กับพระภิกษุ แม่ชี และอุบาสก อุบาสิกาชาวเวียดนาม ณ ที่วัดปรมัตถาราม (Chua Sieu Ly) อยู่ในจังหวัดหวินหล่อง (Vinh Long) ห่างจากกรุงโฮจิมินห์ไปทางใต้ประมาณ ๑๓๐ กิโลเมตร และวัดเหาฟับ (Ho Phap) ในเมืองหวุงต่าว (Vung Tau) จากกรุงโฮจิมินห์ไป ๑๒๕ กิโลเมตร ในงานได้มีพระสงฆ์เถรวาทชาวเวียดนามที่ได้รับนิมนต์มารับกฐินจำนวน ๔๐ – ๕๐ รูป และมีญาติโยมจากที่ต่างๆ มาร่วมงานบุญจำนวนมาก ต่างเตรียมผ้าจีวร สบง ผ้าเช็ดตัว และผ้าจำเป็นสำหรับพระสงฆ์ เจ้าภาพก็จัดทำโรงครัวเลี้ยงผู้มาร่วมงาน ตลอดจนถวายเพลพระสงฆ์ สิ่งที่น่าสังเกตคืองานทำบุญกฐินของชาวพุทธเวียดนามนั้น เขาให้ความสำคัญกับการถวายผ้าแก่พระภิกษุสามเณรจริงๆ โดยอุบาสกอุบาสิกาต่างนำผ้าจีวร สบง หรือผ้าอื่นๆ มาทำบุญร่วมกันอย่างคับคั่ง พิธีการเริ่มประมาณ ๐๙.๓๐ น. ญาติโยมทำพิธีไหว้พระ สวดมนต์เป็นภาษาบาลีและเวียดนามสลับกันไป จากนั้น ญาติโยมได้พากันถือผ้าทูนไว้บนศีรษะเดินเวียนรอบวิหาร ๓ รอบ แล้วเข้าสู่วิหาร นิมนต์พระสงฆ์เข้าสู่วิหาร สมาทานศีล ๕ พระสงฆ์ให้พร แล้วทำพิธีถวายกฐิน พระสงฆ์ทำพิธีกรานกฐิน สวดกฐินเป็นภาษาบาลี เมื่อเสร็จพิธีแล้วพระสงฆ์สามเณรฉันเพล |
บางวัดมีการบิณฑบาตหลังพิธีถวายกฐินเสร็จ เหมือนกับการตักบาตรอาหารแห้งในบ้านเรา ชาวเวียดนามเตรียมสิ่งของ ส่วนมากเป็นพวกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมต่างๆ ที่หาซื้อจากร้านค้านำมาใส่บาตรพร้อมกับเงินด่อง ซึ่งเริ่มตั้งแต่ ๕๐๐ ด่อง (Dong) เป็นต้นไป จนถึงหนึ่งแสนด่อง ผู้เขียนได้มีโอกาสบิณฑบาตร่วมกับพระเวียดนามที่วัดเหาฟับเมืองหวุงต่าว เนื่องจากมีโยมคนหนึ่งเขานำบาตรมาถวายแล้วนิมนต์บิณฑบาตด้วย บรรยากาศการบิณฑบาตค่อนข้างจะแออัดเนื่องจากมีโยมเตรียมใส่บาตรจำนวนมาก เรียงรายอยู่สองฟากถนนหน้าวิหาร เพราะการบิณฑบาตของพระเถรวาทเวียดนามนั้น มิได้มีประจำเหมือนในเมืองไทย นานทีจะมีสักครั้ง ก็ต่อเมื่อมีงานเทศกาลสำคัญๆ เท่านั้น ดังนั้นผู้คนจึงให้ความสำคัญกับการใส่บาตรกันมาก ต่างแย่งกันใส่บาตรผู้เขียนซึ่งเป็นพระไทยรูปเดียวมากเป็นพิเศษ เมื่อโฆษกในงานประกาศว่ามีพระจากประเทศไทยมาร่วมบิณฑบาตด้วย ได้ยินคำว่า “สือไทยแลนด์” แปลว่า “พระจากประเทศไทย” ญาติโยมชาวญวนต่างพากันใส่บาตรพระไทยเป็นการใหญ่ เมื่อบิณฑบาตเสร็จแล้วจึงนำเอาขนม อาหารมาแจกจ่ายแก่ญาติโยมและเด็กๆ ส่วนปัจจัยที่โยมใส่บาตรมา จึงให้เด็กๆ ชาวเวียดนามช่วยกันนับดู เป็นจำนวนเงิน ๘๙,๐๐๐ ด่อง คิดเป็นเงินไทยปัจจุบัน (2554) ประมาณ 200 บาท (1 บาทไทย เท่ากับเงินเวียดนามประมาณ 450 ด่อง) |
พระเถรวาทเวียดนาม กำลังสวดกรานกฐิน |
ภาพลุงโฮ กับเด็กๆ ในพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ |
ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับคนเวียดนาม
ชาวเวียดนามรู้จักเมืองไทยค่อนข้างดี และแสดงความเป็นมิตรต่อคนไทยอย่างน่ารักมาก เมื่อเขาทราบว่าเราเป็นคนไทย มาจากประเทศไทย ท่าทีที่แสดงต่อเรานั้นเกิดความประทับใจแก่ผู้เขียนเป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อพิจารณาถึงบริบทอื่นๆ แล้วเห็นว่าประเทศไทยได้มีความสัมพันธ์กับชาวเวียดนามหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะท่านโฮจิมินท์ (Ho Chi Minh) ซึ่งเป็นทั้งวีรบุรุษและเป็นบิดาของชาวเวียดนาม ซึ่งชาวเวียดนามเรียกท่านด้วยความรักว่า “ลุงโฮ” ได้เคยมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยแถบจังหวัดนครพนมและใกล้เคียง เพื่อภารกิจกู้ชาติเวียดนามจากฝรั่งเศส ที่สำคัญ เมื่อปี พ.ศ. 2490 รัฐบาลไทยสมัยที่ท่านปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทน ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนภารกิจกู้ชาติของเวียดนาม รัฐบาลเวียดนามจึงได้มอบเหรียญตรา “มิตรภาพ” แก่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ในฐานะตัวแทนปรีดีย์ พนมยงค์ และคนไทย ที่เคยช่วยสนับสนุนการกู้ชาติเวียดนาม เมื่อปี พ.ศ. 2534 |
จากอดีตที่ผ่านมา ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศแนบแน่นมาก แม้ในปัจจุบันชาวเวียดนามมีทัศนคติต่อชาวไทยค่อนข้างดีมาก คนเวียดนามจำนวนมากรู้จักประเทศไทยดี และสนใจประเทศไทยรวมทั้งมีการเรียนภาษาไทยด้วย ตอนเช้า เวลา ๐๖.๐๐ น. – ๐๖.๓๐ น. มีรายการ “เสียงภาษาไทยสำหรับคนเวียดนาม” ออกอากาศทางสถานีวิทยุ FM ประจำกรุงโฮจิมินห์ จัดรายการโดยคนเวียดนามที่พูดภาษาไทยได้ดี รับสัญญาณจากกรุงเทพมหานคร ขณะที่ผู้เขียนกำลังเข้าชมพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ที่กรุงโฮจิมินห์อยู่นั้น ได้พบกับเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ชื่อเหมือนไทยว่า “ตุ๊” เขาบอกชอบเรียนภาษาไทย เขาอาสาขับรถส่งไปที่แม่น้ำไซง่อนเพราะอยากจะพูดไทยกับคนไทย ผู้เขียนจึงสนทนากับเขาได้พักหนึ่งแล้วก็เขาก็อำลาจากไป นอกจากนั้น คนเวียดนามยังรู้จักประเทศไทยจากการประชุมเอเปคที่ผ่านมา และรู้จักด้านการกีฬา นักกีฬาไทยมีชื่อเสียงของไทยหลายคนที่คนเวียดนามชื่นชอบ ที่สำคัญคือคุณซิโก้ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง นักฟุตบอลยอดนิยมของไทย ได้เคยไปค้าแข้งที่เวียดนาม บางแห่งมีป้ายโฆษณาสินค้าขนาดใหญ่ ที่มีรูปคุณซิโก้ เกียรติศักดิ์ เป็นพรีเซ็นเตอร์ แม้เพลงไทยก็ได้รับความนิยมอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นเพลงเก่าที่เคยโด่งดัง เช่นเพลงชุดไชน่าดอล คนเวียดนามเรียกว่า “แถ้งถาว” ก็เป็นที่นิยมที่มักจะเปิดกันในร้านอาหาร และเพลงของคุณธงชัย แมคอินไตย ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน
|
สาวเวียดนามชุดอ๋าวหย่ายกับหมวกโนนลา (Non La) |
มหาวิทยาลัยสงฆ์เมืองโฮจิมินห์ (ยังเหมิน) |
สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของพุทธศาสนาในเวียดนาม มีอยู่ ๓ แห่ง แห่งแรกคือ มหาวิทยาลัยยังเหมิน หรือ Van Hang Buddhist University มหาวิทยาลัยชาวพุทธเวียดนามแห่งกรุงโฮจิมินห์ (Vietnamese Buddhist University in HCM) เป็นสถาบันการศึกษาพระพุทธศาสนาของภิกษุ ภิกษุณี แม่ชี โดยแบ่งการเรียนการสอนออกเป็น ๒ ภาค คือช่วงเช้าสำหรับ ภิกษุ ส่วนช่วงบ่ายสำหรับภิกษุณีและแม่ชี มีอาคารเรียนขนาดใหญ่ ๕ ชั้น ชั้นแรกเป็นห้องสำนักงานและห้องทำงานของครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่ ส่วนชั้นสองขึ้นไป เป็นชั้นเรียน ผู้เขียนได้สอบถามพูดคุยกับพระอาจารย์ผู้สอนรูปหนึ่ง ทำให้ทราบว่าการเรียนการสอนที่นี่จะเน้นวิชาการด้านพระพุทธศาสนาเป็นหลักและมุ่งเรียนวิชาการด้านมหายาน โดยมีวิชาพื้นฐานกำกับเช่นเดียวกับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยสงฆ์ของไทย |
แห่งที่สองตั้งอยู่ที่วัดควนซือ (Quan Su) ชื่อว่ามหาวิทยาลัยชาวพุทธเวียดนามแห่งกรุงฮานอย (Vietnames Buddhist University in Hanoi) มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นสถานศึกษาสำหรับภิกษุและภิกษุณีมหายาน ซึ่งภิกษุและภิกษุณีบางส่วนก็อาศัยอยู่ในวัดแห่งนี้ นอกนั้นก็มาจากวัดอื่นๆ (Chua จั่ว) ที่อยู่ในกรุงฮานอย มหาวิทยาลัยสงฆ์วัดควนซือ เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาของฮานอยและเวียดนามเพราะเป็นวัดที่มีชื่อเสียงและมีบทบาทด้านการศึกษาพุทธศาสนามหายาน หลักสูตรการศึกษาของที่นี่เป็นปริญญาตรี ๔ ปี และมีระดับประกาศนียบัตร ๑ ปี วิชาที่ศึกษาก็เน้นด้านพระพุทธศาสนามหายานประกอบกับวิชาพื้นฐานทั่วไป เมื่อจบการศึกษาแล้วก็ได้รับปริญญาบัตร ซึ่งภาพการรับปริญญาบัตรของที่นี่ดูน่าสนุก เพราะพระที่เข้ารับปริญญาต่างสวมชุดครุย เหมือนฆราวาส ทราบภายหลังว่านั่นเป็นพระบัณฑิตของมหาวิทยาลัย |
พระภิกษุนักศึกษา ภายในมหาวิทยาลัย |
เจดีย์วัดเทียนหมุ เมืองเว้ (Hue)
วัดที่พระทิจ กวง ดึ๊ก เคยพำนักก่อนเผาตัวเองประท้วง |
ส่วนมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งที่สามอยู่ที่เมืองเว้ (Hue) ภาคกลางของเวียดนาม แต่เสียดายที่ผู้เขียนมิได้ไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยชาวพุทธแห่งเมืองเว้ เนื่องจากมีเวลาอยู่ที่เมืองเว้แค่ ๒ วัน จึงได้แต่ไปดูอารยธรรมเก่าแก่ของเวียดนาม ได้แก่ พระราชวังไทฮวา (Thai Hoa) หรือดิ๊ดือตึ๊กและสุสานจักรพรรดิไคดิงห์ (Khai Dinh) ตลอดจนสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ของเมืองเว้ เพราะเมืองเว้เป็นเมืองเก่าแก่ทางวัฒนธรรมของเวียดนาม ที่คงศิลปะดังเดิมของเวียดนามไว้อย่างชัดเจน ผู้เขียนเพียงแค่ไปเยี่ยมวัดบางวัด เช่นวัดเทียนหมุ ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองเว้ และนั่งเรือชมวิถีชีวิตชาวเวียดนามสองฟากฝั่งของแม่น้ำซงเฮือง หรือแม่น้ำหอม จนได้เวลาเดินทางต่อไปยังกรุงฮานอย โดยรถไฟ ซึ่งใช้เวลานานถึง ๑๒ ชั่วโมง
มหาวิทยาลัยชาวพุทธของเวียดนามเป็นแหล่งศึกษาพระพุทธศาสนาของภิกษุ ภิกษุณี และแม่ชีชาวเวียดนามมานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยยังเหมินที่กรุงโฮจิมินห์นั้น ยังได้มีการเรียนการสอนด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน โดยมีอาจารย์ผู้สอนกัมมัฏฐานเป็นพระภิกษุเถรวาท เป็นเจ้าอาวาสวัดกี่เหวียน (Ky Vien) เมืองโฮจิมินห์ ซึ่งได้เคยเดินทางไปศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานที่ประเทศพม่า และเคยเดินทางมาเมืองไทยหลายครั้ง มหาลัยสงฆ์ที่กรุงโฮจิมินห์จึงมีความหลากหลายกว่าที่อื่น เพราะนักศึกษาทั้งพระภิกษุมหายาน เถรวาท พระนิกายคัทเส และภิกษุณี
|
สภาพทั่วไปของชาวเมือง
บรรยากาศในท้องถนนของเวียดนามโดยเฉพาะเมืองหลวงฮานอย และเมืองโฮจิมินห์ซิตี้จะแออัดไปด้วยรถจักรยานยนต์ ซึ่งมีมากเป็นอันดับหนึ่ง แถวสี่แยกไฟแยงจะพบเห็นเหล่ารถจักรยานยนต์จอดรอสัญญาณไฟเขียวอยู่เนืองแน่น ยิ่งตอนเช้าและตอนเย็นจะเป็นช่วงจราจรแออัดเหมือนบ้านเรา ทั้งรถมอเตอร์ไซด์ จักรยาน และรถยนต์ ต่างมุ่งไปทำงานกันอย่างเร่งรีบตามประสาสังคมเมือง รถถีบสามล้อรับจ้าง ภาษาเวียดนามเรียนว่า “ซิกโคล่” เป็นสามล้อถีบแบบมีเบาะนั่งอยู่ข้างหน้า คนขับอยู่ข้างหลัง (ผู้เขียนมักเรียกว่า “สามล้อจิงโจ้”) ต่างปั่นหาลูกค้ากันในทุกซอกซอย นักเรียนหญิง ม.ปลาย ใส่ชุดอ๋าวหย่ายสีขาวปั่นจักรยานไปโรงเรียนตอนเช้าและเลิกเรียนตอนเย็น กลายเป็นสัญลักษณ์บนท้องถนนของเวียดนามไป รถบริการให้เวียดนามมีหลายประเภท ตั้งแต่รถเมล์โดยสารประจำทาง ราคาก็ไม่แพง ต่อมาเป็นรถแท็กซี่สีเหลืองเหมือนในกรุงเทพ รถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ซึ่งไม่ได้จอดตามคิวและไม่ใส่เสื้อคลุมเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าเป็นมอเตอร์ไซด์รับจ้างเช่นกับบ้านเรา (ภาษาเวียดนามเรียก “ซีอม” แปลว่า ขี่แบบกอดเอว) บางทีก็จอดรอลูกค้าแถวย่านท่องเที่ยวและออกตระเวนหาลูกค้าข้างถนนทั่วๆ ไป นอกจากนั้น รถที่นักท่องเที่ยวนิยมนั่งชมเมืองกันคือซิกโคล่ หรือสามล้อปั่นสามล้อรับจ้างทั่วๆ ไปในเมืองใหญ่ พอจะสื่อสารภาษาอังกฤษได้ แต่ถ้าเป็นเมืองเล็กๆ รอบนอกก็อาจเป็นปัญหาสำหรับชาวต่างชาติอยู่พอสมควร ดังนั้น ควรมีพจนานุกรมอังกฤษ – เวียดนาม พกพาติดตัวไปเมื่อท่องเที่ยวเวียดนาม
|
ทางเข้าพระราชวังไทฮวา (Thai Hoa) เมืองเว้
ซิกโคล่ (Cyclo) สามล้อถีีบรับจ้าง |

เรือประมงพื้นบ้านที่แม่น้ำซงเฮือง (Perfume River) ไกล้ตลาดดงบา

เรือพายรับจ้าง มีผู้หญิงเป็นผู้พายเรือ
|
วิถีชีวิตชาวชนบท
เมื่อเดินทางออกจากในเมืองใหญ่แล้ว ก็จะพบกับวิถีชีวิตชาวเวียดนามที่แสนจะเรียบง่าย คือการใช้ชีวิตกับภาคเกษตรกรรม โดยมีทุ่งนาและสายน้ำเป็นเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำของผู้คนในชนบท ชาวนาเวียดนามทำนาได้ตลอดปี เพราะอุดมไปด้วยน้ำ แต่ถ้าเป็นหมู่บ้านที่ติดกับลำน้ำโขง ส่วนใหญ่มักจะทำสวน ปลูกผลไม้ยืนต้น เช่น ลำไย ส้มโอ มะม่วง กล้วย ตลอดจนปลูกพืชผักสวนครัวอื่นๆ เพื่อการจำหน่ายและบริโภคภายในครัวเรือน วิถีเกษตรของเวียดนามนับเป็นการเกษตรแบบดั้งเดิม คือเกษตรอินทรีย์ ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี ไม่ฉีดยาฆ่าแมลง ปลูกโดยอาศัยปุ๋ยจากธรรมชาติ ทำให้ผักผลไม้น่ารับประทานและปลอดภัยจากสารเคมี ชาวเวียดนามบางส่วนที่อาศัยอยู่ติดกับแม่น้ำสายใหญ่ เช่นแม่น้ำซงเฮืองที่เมืองเว้ หรือแม่น้ำไซง่อนแห่งเมืองโฮจิมินห์ มักจะประกอบอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับสายน้ำ เช่น การประมง ส่วนใหญ่ที่ผู้เขียนได้พบเห็นเป็นการทำประมงแบบพื้นบ้าน โดยใช้แห เบ็ด และอวนขนาดเล็กเพื่อการจับปลา หากเป็นเมืองท่องเที่ยวเช่นเมืองเว้ จะเห็นเรือหัวมังกรจอดเรียงรายที่ตลิ่ง เพื่อรอรับนักท่องเที่ยวที่นิยมเช่าเหมาลำเรือเพื่อชมความงามของเมืองเว้สองฝั่งแม่น้ำหอม (ซงเฮือง) ส่วนแม่น้ำสายเล็กๆ ที่กระแสน้ำไหลไม่แรงนัก ก็มักจะมีเรือพาย
ขายของ และเรือพายรับจ้าง บางแห่งกลายเป็นตลาดน้ำ ที่ชาวบ้านพายเรือมาซื้อขายสินค้าเกษตร เช่นปลา ผัก ผลไม้ หรืออาหาร เช่นที่หลังตลาดเมืองฮอยอัน และแม่น้ำทูโบนแห่งเมืองฮอยอัน (Hoi An) ยังมีเรืออีกชนิดหนึ่ง ที่มักจะพบเห็นได้ในเมืองใหญ่ๆ เช่นที่เมืองเว้ เมืองไฮฟอง หรือเมืองฮาลอง เรือที่ว่านั้นคือเรือบ้าน ได้แก่เรือที่เป็นที่อยู่อาศัยของคนที่ไม่มีบ้านหรือไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง เรือชนิดนี้เหมือนบ้านหลังหนึ่ง มีเลขทะเบียนบ้านอย่างถูกต้อง มีเครื่องอุปโภคบริโภคพื้นฐานภายในเรือครบถ้วน เคยพบคนขายของเร่คนหนึ่ง แล้วถามเขาว่าบ้านเขาอยู่ทีไหน เขาเอามือชี้ไปที่เรือแล้วบอกว่า “นี่บ้านของฉัน” ยอมรับว่าคนเวียดนามมีความขยันขันแข็งและสู้ชีวิตอย่างไม่ท้อถอย บางคนจากชนบทห่างไกลมาตัวเปล่า แล้วมารับจ้างหางานทำ หรือค้าขาย จากนั้นก็เริ่มสร้างตัว บางคนเริ่มจากการซื้อเรือเพื่อทำเป็นบ้าน พอนานๆ เข้าก็ซื้อบ้านเป็นของตนเองได้ นี่คือปรัชญาการดำเนินชีวิตที่คนเวียดนามส่วนใหญ่ยึดถือ คือมุ่งมั่น ขยัน ไม่ท้อถอย
|
ชาวเวียดนามจัดว่าเป็นชนชาติที่มีความขยันและอดทน มีความรักชาติเต็มเปี่ยมอยู่ในหัวใจ ชาวเวียดนามส่วนใหญ่ยังคงใช้ชีวิตอยู่กับภาคเกษตร อยู่กับท้องไร่ท้องนา ปลูกข้าวเป็นหลัก ปลูกผักเป็นรอง นอกจากมีอาชีพหลักแล้ว อาชีพอื่นๆ ที่นอกจากนั้น เช่น การประมง เป็นการประมงแบบพื้นบ้าน ผักผลไม้ต่างๆ รวมทั้งดอกไม้ ที่จำหน่ายในตลาด ล้วนเป็นผลิตผลจากท้องไร่ท้องนาของชาวเวียดนาม ยกเว้นสินค้าอุตสาหกรรม โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน บางส่วนก็นำเข้าจากประเทศไทย อาชีพที่มักจะพบเห็นโดยทั่วไป คือ แม่ค้าหาบเร่ ขายอาหารเช่น เฝอ แหนมเนือง และขนมเวียดนาม ในเมืองทั่วๆ ไป มีร้านตัดผมแบบเคลื่อนที่ บริการตัดผมแบบง่ายๆ ตั้งอยู่บนฟุตบาท มีลูกค้าชาวเวียดนามใช้บริการเช่นกับร้านบาร์เบอร์ทั่วไป โดยสภาพทั่วไปของเวียดนามจะมีแม่น้ำสายใหญ่สายเล็กมากมาย ชาวเวียดนามจึงนิยมสัญจรทางเรือ ทั้งเรือพาย เรือแจว เรือยนต์ขนาดเล็ก ตลอดจนเรือขนาดใหญ่ แต่ละเมืองที่มีแม่น้ำสายใหญ่ผ่าน ก็จะเห็นผู้คนข้ามฟากโดยอาศัยเรือเฟอรี่ขนาดใหญ่ ตอนเช้า ตอนเย็น ผู้คนจะรอเรือมารับข้ามฟาก ทั้งรถมอเตอร์ไซค์ จักรยาน และคนเดินเท้า ต่างขึ้น ลง เรือข้ามฟากกันอย่างเนื่องแน่น |
|

แม่ค้าหาบเร่ ในเมืองฮานอย |

เรือข้ามฟาก มีอยู่ทั่วไปของเวียดนาม |
สภาพผู้คนบนท้องถนนในเมือง ก็จะมากไปด้วยรถจักรยานยนต์ ที่ไม่นิยมใส่หมวกกันน๊อค อาจเป็นเพราะยังไม่มีกฎหมายบังคับ แต่คนเวียดนามนิยมสวมหมวกแก๊ปไปทำงานหรือขับขี่ยานพาหนะไปในท้องถนน และนิยมใช้หน้ากากปิดปากเพื่อป้องกันฝุ่นละออง ในร้านค้าจะมีหน้ากากหลากหลายสีวางขายคู่กับหมวกโนนลาที่คนเวียดนามนิยมใส่กัน
แต่สภาพในชนบทที่เห็นก็จะต่างจากคนในเมือง ภาพแห่งการพลุกพล่านไม่ค่อยได้เห็น เห็นท้องไร่ท้องนา ผู้คนพายเรือ หรือถีบจักรยานไปทำงานหรือไปโรงเรียน ชาวบ้านยังคงยึดถือแบบจารีตดั้งเดิม เช่นการนับถือบรรพบุรุษ นับถือเทพเจ้า หรือเจ้าที่เจ้าทาง ในช่วงเทศกาลหรือวันสำคัญ ชาวชนบทก็ให้ความสำคัญกับการบูชาบรรพบุรุษ หรือการบนบาน เซ่นสรวงเจ้าที่เจ้าทางตามความเชื่อ ในศาลเจ้าต่างๆ ก็จะมีผู้คนนำเอาอาหาร ผลไม้ ไปบูชา เซ่นสรวงเพื่อขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามที่ตนเองนับถือ เทพเจ้าที่ชาวเวียดนามนับถือ ส่วนใหญ่เป็นเทพเจ้าที่นับถือตามแบบชาวจีน เช่นขงจื้อ กวนอู เป็นต้น |

ชาวเวียดนามบูชาศาลเจ้าที่ |
อาหารเวียดนาม
เมื่อถึงเวลาหิว อาหารก็จำเป็นจำหรับผู้เดินทาง อาหารเวียดนามมีรสชาติคล้ายอาหารไทย จีน อีกส่วนหนึ่งก็คล้ายอาหารไทย สำหรับลิ้นคนไทยแล้วสามารถกินอาหารเวียดนามได้เพราะใกล้เคียงกัน ผู้เขียนจึงไม่มีปัญหาเรื่องอาหารการกินเมื่อไปเวียดนาม ไม่เหมือนกับไปอินเดียและเนปาล ซึ่งแทบจะกินอาหารของแขกไม่ได้เลย แต่ที่เวียดนามสามารถกินได้ทุกอย่างที่ชาวเวียดนามเขากิน เมนูอย่างหนึ่งที่ไม่คุ้นหน้าคุ้นตาคนไทยคือ “จ้อ” คือเนื้อสุนัขที่นำมาทำเป็นอาหารทั้งผัด ทั้งทอด และอื่นๆ ซึ่งเป็นอาหารที่มีขายอย่างถูกต้องตามกฎหมายของเวียดนาม แต่ที่น่าสนใจคือ เฝอ (Pho) เป็นก๋วยเตี๋ยวหรืออาหารประเภทบะหมี่ของเวียดนาม มีขายอยู่ทั่วไป ทั้งในร้านอาหารและร้านหาบเร่ข้างถนน และแหนมเนืองเป็นอาหารเวียดนามขนานแท้ มีรสชาติอร่อย ทั้งสองนี้จัดเป็นอาหารประจำชาติเวียดนามที่ใครไปเยือนแล้วต้องหารับประทานให้ได้ อาหารเวียดนามส่วนใหญ่ จะมีผักหลากหลายชนิดเป็นเครื่องเคียง เวลารับประทานต้องนำเอาผักมาห่อคำข้าวหรือห่ออาหาร จะทำให้มีรสชาติดี อาหารเวียดนามคล้ายอาหารจีนตรงที่ไม่เผ็ด รสออกจืดๆ แต่อร่อย เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว คนเวียดนามมักจะดื่ม “ฉ่าด๋า” คือน้ำชาเย็น หรือน้ำชาใส่น้ำแข็ง ( ฉ่า แปลว่า ชา, ด๋า แปลว่า เย็น หรือ น้ำแข็ง) ฉ่าด๋า จึงเป็นเครื่องดื่มสากลของเวียดนาม ในร้านอาหารต่างๆ ก็มักจะเสริฟฉ่าด๋าให้กับลูกค้าในร้าน ด้วยสาเหตุที่คนเวียดนามชอบดื่มชาเป็นกิจวัตรประจำวันและชอบรับประทานผักหรือเปล่า จึงทำให้คนเวียดนามไม่อ้วน ไม่ว่าหญิงหรือชาย อายุมากหรือน้อย แทบจะหาคนอ้วนไม่พบเลย ยิ่งสาวๆ เวียดนามหุ่นดีกันทั้งนั้น |

อาหารเวียดนาม เน้นผักทุกมื้อ |

เฝอ อาหารจานด่วน หาทานได้ทั่วไป |

การเกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ |
|
สิ่งที่ควรลองชิมคือขนมปังสอดใส้ เป็นอาหารฝรั่งเศส ซึ่งได้รับมาในคราวที่เวียดนามตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เป็นขนมปังก้อนใหญ่เท่าแขน สีน้ำตาลอมเหลือง ข้างในสอดใส้ด้วยเครื่องปรุง เช่น หมูยอ ผัก หมูแดง และเครื่องปรุงอื่นๆ ตามสูตรของแต่ละร้าน ขนมปังชนิดนี้ สามารถพบเห็นได้นอกจากที่เวียดนามแล้วยังมีที่ลาว โดยเฉพาะกรุงเวียงจันทน์ แต่ขนมปังที่ลาวต่างจากที่เวียดนามคือไม่นิยมสอดใส้
นอกจากเมนูอาหารพื้นบ้านดังกล่าวแล้ว อาหารทะเลที่เวียดนามราคาก็ไม่แพงนัก ถ้าเทียบกับบ้านเรา เพราะทุกภาคของเวียดนาม ทั้งเหนือ กลาง ใต้ ล้วนมีภูมิประเทศติดกับทะเลทั้งสิ้น อาหารทะเลก็มีมาก ทะเลก็อุดมสมบูรณ์ การขนส่งก็ไม่ไกล แต่อาหารทะเลไม่มีขายทั่วไป ถ้าอยากทานก็ต้องไปที่ร้านอาหารหรือภัตตาคารตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ หรือในโรงแรม
|
แม่ค้ากำลังขายขนมปังสอดใส้ให้แก่ลูกค้า |

เฝอ อาหารจานด่วน หาทานได้ทั่วไป |
ที่พักสำหรับคนเดินทาง
นักท่องเที่ยวที่ชอบเดินทางไปในที่ต่างๆ สิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือที่พัก แต่ถ้าการไปเที่ยวเวียดนามในรูปของแพคเกจทัวร์คงไม่ต้องกังวลเรื่องที่พัก เพราะบริษัททัวร์เขาจัดสรรให้แล้วอย่างลงตัว พร้อมกับกิจวัตรประจำวันอื่นๆ แต่ถ้าการเดินทางไปแบบนกขมิ้นเหลืองอ่อน ค่ำไหนนอนนั่น หรืออยากไปที่ใดก็ไปได้ดั่งใจแล้วก็ต้องให้ความสำคัญกับที่พัก เพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณหรือความต้องการ โดยทั่วไปที่พักมีอยู่พอเพียงสำหรับนักท่องเที่ยว ราคาเริ่มต้นที่ 5 ดอลล่า สำหรับเกสเฮาส์ทั่วไป นอกจากนึ้ก็จะมีโรงแรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงแรมระดับ 3 ดาว ราคาที่พักประมาณ 10-15 ดอลล่าต่อคืน สำหรับผู้เขียนเมื่อตอนไปครั้งนั้น ทุกที่ที่ไปก็จะเลือกหาที่พักที่เป็นเกสท์เฮาส์ ราคาคืนละประมาณ 5 ดอลล่า หรือเกินกว่านี้ก็ไม่เกิน 10 เหรียญ แค่นี้ก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับที่พักเพื่อการท่องเที่ยว ที่เวียดนามมีกฎหมายห้ามชาวต่างชาติพำนักกับครอบครัวคนท้องถิ่นหรือในที่อื่นใด ที่ไม่ใช่ที่พักอันได้รับใบอนุญาตจากทางการ เช่นกับบางประเทศ เช่นที่พม่าหรือจีน ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่ไม่ได้ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย |

นักศึกษาเวียดนาม ในกรุงฮานอย กับชุดประจำชาติ |

พนักงานต้อนรับในพิพิธภัณฑ์กับชุดประำจำชาติ |
ใครที่มีอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ต้องใช้ เช่น แทนชาร์จแบตเตอรี่กล้องถ่ายรูป โทรศัพท์ ควรหาซื้อตัวต่อเสียบปลั๊กไฟจากร้านค้าที่เวียดนามก่อน เพราะช่องเสียบปลั๊กบางแห่งไม่เหมือนปลั๊กในที่ใช้ในบ้านเรา พนักงานต้อนรับทั้งในโรงแรมและเกสท์เฮาส์ต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นหญิง ล้วนแต่งกายด้วยชุดประจำชาติ คือชุดอ๋าวหย่าย แต่ละแห่งมักจะมีแพคเกจทัวร์มาเสนอให้กับลูกค้าผู้มาพัก |
พระราชวังไทฮวา (Thai Hoa) เมืองเว้
|
สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ
นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่หลงใหลในมนต์เสน่ห์ของเมืองมรดกโลกอย่างเว้ (Hue) และฮอยอัน (Hoi An) เพราะที่นี่คือต้นกำเนิดวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของเวียดนาม เมืองเว้เป็นเมืองหลวงเก่าของเวียดนาม มีสถานที่สำคัญได้แก่พระราชวังไทฮวา (Thai Hoa) หรือ ดิ๊ ตือ ดึ๊ก และสุสานจักรพรรดิ์ไคดิงห์ (Khai Dinh) ซึ่งตกแต่งได้อย่างวิจิตรสวยงาม ทั้งเสา ฝาผนัง คาน ตกแต่งด้วยน้ำมันครั่งสีแดง และลวดลายสีทอง เว้ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของพระราชวังต่างๆ จนได้รับขนานนามว่า "นครจักรพรรดิ์ " เป็นต้นกำเนิดของชุดอ๋าวหย่ายหรือชุดประจำชาติของเวียดนามในปัจจุบัน |
สุสานจักรพรรดิ์ไคดิงห์ (Khai Dinh) นับเป็นสุสานที่มีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งเมืองเว้ ตั้งอยู่บนเนินเขา ห่างจากเมืองเว้ 10 กิโลเมตร ถือเป็นสุสานที่สวยงามที่สุด ศิลปะเป็นแบบผสมผสานระหว่างศิลปะยุโรปกับเอเชีย ภายในสุสานมีความงดงามด้วยลวดลายประดับทุกส่วนของห้อง มีรูปเหมือนขององค์จักรพรรดิ์ประดิษฐานอยู่ด้านบนที่เก็บพระศพของจักรพรรดิ์ ผู้ที่ได้มาเยือนต่างรู้สึกตราตรึงใจกับความงดงามของสุสานแห่งนี้ |
รูปปั้นเหล่าทหารเฝ้าหน้าสุสาน |
ศิลปะแบบเวียดนามที่เมืองไฮฟอง |
สถาปัตยกรรมต่างๆ ในเมืองเว้ ทั้งพระราชวังและวัด มีส่วนผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมของเวียดนามและจีน วัดวาอารามต่างๆ นอกจากมีพระพุทธรูปแล้ว ยังมีเจ้าแม่กวนอิม และเทพเจ้าอื่นๆ เช่นเทพเจ้ากวนอู ซึ่งล้วนได้รับอิทธิพลมาจากจีน ในส่วนของพระราชวังดิ๊ ดือ ตึ๊ก หรือพระราชวังต้องห้าม (The Purple Forbidden City) ก็สร้างตามแบบพระราชวังต้องห้ามของจีน เพียงแต่ย่อส่วนให้เล็กกว่าที่ประเทศจีน เมืองเว้ นับเป็นเมืองวัฒนธรรมของเวียดนาม ที่ยังคงรักษาโบราณสถานต่างๆ ไว้ด้วยดี สภาพภายในเมืองเว้ ก็สงบ เรียบง่าย ไม่พลุกพล่านเหมือนเมืองใหญ่ เว้ยังได้ชื่อว่ามีสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดของเวียดนาม ในอดีต ลุงโฮ หรือ โฮจิมินห์ ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของเวียดนาม ก็ได้เคยมาศึกษาที่เมืองเว้แห่งนี้ ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศส |
นักท่องเที่ยวที่ได้มาเยือนเวียดนามนอกจากจะได้สัมผัสกับโบราณสถานแบบเวียดนามที่เมืองเว้แล้ว ยังได้ชมความงดงามของดนตรีและการแสดงพื้นบ้านของเวียดนามด้วย ที่เมืองเว้มีการแสดงดนตรีพื้นบ้าน ซึ่งสืบทอดมาจากการแสดงในราชวังในครั้งอดีต โดยใช้เครื่องดนตรีเพียงไม่กี่ชิ้น หนึ่งในนั้นมีพิณน้ำเต้า ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีของชาวเวียดนาม ที่มักใช้ประกอบบทเพลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตชาวเวียดนาม ฟังแล้วรู้สึกหวานปนเศร้า แต่ที่แปลกตามากที่สุดคือการนำเอาถ้วยชามาใส่มือข้างละ 2 ใบ แล้วเคาะกระทบกันเป็นจังหวะประสานกับบทเพลงที่ขับขานเป็นภาษาเวียดนาม แม้จะฟังไม่ออก แต่ก็สามารถสัมผัสได้ถึงอารมณ์ของบทเพลง การแสดงนี้ ส่วนใหญ่มีไว้สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มักจัดในร้านอาหารหรือในเรือหัวมังกรที่เมืองเว้ |
|

การแสดงหุ่นกระบอกน้ำที่ทะเลสาป โฮ ฮ่วน เกี๋ยม
|

การแสดงดนตรีพื้นบ้านบนเรือท่องเที่ยว ที่ลำน้ำซงเฮือง เมืองเว้ |
ศิลปะการแสดงอีกลักษณะหนึ่ง ที่นักท่องเที่ยวมักจะได้ชม หากได้ไปที่กรุงฮานอย นั้นคือการแสดงละครหุ่นกระบอกน้ำที่กลางทะเลสาบโฮ ฮว่าน เกี๋ยม ซึ่งอยู่ใจกลางเมืองฮานอย ผู้แสดงหุ่นกระบอกจะยืนอยู่หลังฉากที่มีน้ำสูงถึงระดับเอว แล้วทำการเคลื่อนไหวหุ่นกระบอกด้วยไม้ไผ่ลำขนาดยาว ประกอบกับการขับขานดนตรีสดๆ จากเครื่องดนตรีพื้นบ้าน การแสดงละครหุ่นกระบอกน้ำนี้ ได้สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของชาวเวียดนามอย่างกลมกลืน มีการทำไร่ไถนา มีวัวควายอาศัยอยู่กับคน บางคราวคนก็ขึ้นขี่บนหลังควายพร้อมเป่าปี่ มีปลาดำแหวกว่ายไปมาในน้ำ บทละครได้ฉายภาพความเป็นท้องทุ่งและชีวิตบนท้องนา สายน้ำ ได้เป็นอย่างดี เรื่องที่แสดง มักจะเป็นตำนานของเต่าที่นำดาบมาถวายพระเจ้าหลีไทโต เพื่อนำไปต่อสู้กับจีนที่เข้ามารุกรานเวียดนามจนได้รับชัยชนะ แล้วพระเจ้าหลีไทโตก็นำดาบมาคืนให้กับเต่าที่ทะเลสาบแห่งนี้ จึงได้ชื่อว่าทะเลสาบโฮ ฮว่าน เกี๋ยม แปลว่า ทะเลสาบคืนดาบ |
ทะเลสาป โฮ ฮ่วน เกี๋ยม ( Ho Hoan Kiem)
ใจกลางเมืองโฮจิมินห์ |
|
เมืองท่องเที่ยวของเวียดนามมีหลายแห่ง เช่น เว้ ฮานอย โฮจิมินห์ ฮอยอัน ดานัง สะปา หวุงต่าว ถ้าจะลองเปรียบเทียบเมืองท่องเที่ยวของเวียดนามกับประเทศไทย ฮานอยเหมือนกรุงเทพ, โฮจิมินห์ซิตี้ เหมือนเชียงใหม่, เว้เหมือนสุโขทัย, สะปา เหมือน ปาย แม่ฮ่องสอน, หวุงต่าวเหมือนพัทยา, สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเวียดนามค่อนข้างหลากหลาย ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น ชายหาด เพราะภูมิประเทศของเวียดนามมีลักษณะยาวเหมือนก้านมะพร้าว ติดกับทะเลทุกภาค แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลจึงมีมากพอสมควร ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันจนได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก คือ อ่าวฮาลอง (Halong Bay) อยู่ในเมืองฮาลอง ห่างจากฮานอย 120 กิโลเมตร ที่ท่องเที่ยวด้านวิถีชีวิตและกลุ่มชาติพันธุ์ที่เมืองซาปา (Sapa) เป็นดินแดนชนบทที่มีมนต์เสน่ห์ มีท้องทุ่งนาเป็นขั้นบันใดที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง และกลุ่มชนชาติไท ที่ตอนเหนือของเวียดนาม ติดกับมณฑลยูนานของจีน |

สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติของเวียดนาม |

อ่าวฮาลอง งดงามสมเป็นมรดกโลก |
ชายหาดหวุงต่าว ตอนใต้ของเวียดนาม |
ส่วนผู้ที่เดินทางเข้าเวียดนามมาทางลาว ที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว จ.มุกดาหาร ก็จะผ่านลาวก่อนแล้วเข้าพรมแดนเวียดนาม มีที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เส้นทางระหว่างด่านพรมแดนลาวหรือเรียกว่า “ลาวบาว” เข้าสู่เมืองดองฮา ก่อนถึงเว้ ตลอดสองข้างทางจะเห็นความงดงามของท้องทุ่งที่เขียวขจี แม้จะเป็นช่วงเดือนเมษายนที่บ้านเราร้อนระอุแต่ที่นั่นกลับอุดมไปด้วยพืชพันธ์ทางการเกษตรและสภาพอากาศก็เย็นสบาย มองเห็นสายน้ำที่ใสไหลเย็นของแม่น้ำเบนไห่ ซึ่งเคยเป็นแม่น้ำกั้นพรมแดนระหว่าง 2 ประเทศ คือเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ ห่างไปไม่ไกลนัก เส้นทางจากเว้เข้าสู่เมืองดานัง มีสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งคืออุโมงค์รถยนต์ลอดภูเขาไฮ่เวิน (Hai Van Pass ) เพื่อเข้าสู่เมืองดานังที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของภูเขา ความยาวของอุโมงค์ 6.3 กิโลเมตร นับว่ายาวที่สุดในเอเชียใต้
|
ที่ดานัง มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์การกู้ชาติเวียดนาม คืออุโมงค์ที่ขุดไว้สำหรับหลบซ่อนตัวของเหล่าทหารและชาวเวียดนามในคราวต่อสู้กอบกู้เอกราชจากฝรั่งเศส ภายในอุโมงค์มีหุ่นรูปปั้นแสดงความเป็นอยู่ของคนเวียดนามในสมัยนั้น ความรู้สึกของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเมื่อได้สัมผัสสภาพภายในอุโมงค์แล้ว เห็นว่าชาวเวียดนามมีความทรหดอดทนเป็นเลิศ ช่างเป็นการกู้ชาติที่แสนยากลำบาก และน่าชื่นชมในความรักชาติเป็นอย่างยิ่ง ในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งจะเห็นภาพผู้หญิง เด็ก และสาวเวียดนาม ถือปืนต่อสู้กับผู้รุกรานอย่างกล้าหาญ ส่วนที่เมืองฮอยอัน มรดกโลกแห่งหนึ่งในประเทศเวียดนาม มีจุดเด่นที่เป็นเมืองโบราณที่ยังคงมีชีวิตอยู่ คือสภาพบ้านเรือนหลายแห่งที่มีคนอาศัยต่อเนื่องกันมานับ 200 ปี จนถึงปัจจุบัน |
|
|
 |
อุโมงค์รถยนต์ลอดภูเขาไฮ่เวิน (Hai Van Pass ) |
พิพิธภัณฑ์ แหล่งศึกษาประวัติศาสตร์เวียดนาม
สำหรับผู้เขียนได้สนใจเป็นพิเศษคือด้านประวัติศาสตร์ของเวียดนามโดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสงครามที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง เพราะในอดีตเวียดนามเป็นสมรภูมิสงครามอันลือเลื่องที่เกี่ยวข้องกับมหาอำนาจ
ชาติตะวันตกอย่างฝรั่งเศส อเมริกา ตลอดจนเอเชีย อย่างไทยก็เคยไปร่วมรบในเวียดนามมา ผู้เขียนไปชมพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั้งในกรุงโฮจิมินห์และกรุงฮานอย พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ของเวียดนามจะให้ความสำคัญกับการกู้ชาติที่นำโดยโฮจิมมินห์มากเป็นพิเศษ เพราะถือว่าต้นกำเนิดของชาติเวียดนามปัจจุบัน
|
|
|
|
ภาพเด็กๆ วิ่งหนีตายจากการทิ้งระเบิดของอเมริกา |
ภาพแม่อุ้มลูกหนีภัยสงคราม |
คิม ฟุค หญิงผู้รอดตายจากระเบิดนาปาล์ม |
ภาพประวัติศาสตร์ภาพหนึ่ง ที่ยังคงติดตาผู้คนทั้งโลก นั่นคือภาพเด็กๆ วิ่งหนีระเบิดนาปาล์มของทหารอเมริกันในปี พ.ศ. 2515 เด็กหญิงวัย 9 ขวบ คนหนึ่งถูกไฟลุกใหม้เผาเสื้อผ้าจนเเหลือแต่ตัวล่อนจ้อน วิ่งหนีตายอย่างเจ็บปวด แต่ไฟก็ได้เผาลวกผิวหนังของเธอถึง 64% เธอต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลถึง 14 เดือน และผ่านการผ่าตัดถึง 17 ครั้ง กว่าจะหายเป็นปกติ เธอยังโชคดี เมื่อเทียบกับลูกพี่ลูกน้องอีก 2 คน ซึ่งตายเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว เธอชื่อคิม ฟุค ( Kim phuc)
จากนั้นมาอีก 25 ปี เด็กหญิงคนดังกล่าวได้ปรากฎตัวอีกครั้ง ในปี พ.ศ.2539 คิม ฟุคก็ได้มาปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าชาวอเมริกัน ซึ่งเคยผ่านสมรภูมิเวียดนาม เธอได้รับเชิญให้มาพูดเนื่องในโอกาสวันทหารผ่านศึก ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เธอได้ี่เล่าถึงประสบการณ์อันเจ็บปวดที่เธอและครอบครัวได้รับ พร้อมทั้งชาวเวียดนามอีกไม่น้อย ตอนหนึ่งเธอก็ได้เผยความในใจว่า มีเรื่องหนึ่งที่เธออยากจะบอกต่อหน้านักบินที่ทิ้งระเบิดใส่หมู่บ้านของเธอ " ฉันอยากบอกเขาว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ได้ แต่เราควรพยายามทำสิ่งดีๆ เพื่อส่งเสริมสันติภาพทั้งในปัจุบัน และอนาคต" ขณะนั้น มีคนเขียนข้อความส่งถึงเธอว่า " คนที่เธอต้องการพบกำลังนั่งอยู่ในห้องประชุมนี้"
|
|
 |
เมื่อเธอบรรยายเสร็จ ลงมาจากเวที อดีตนักบินที่เกือบฆ่าเธอก็มายืนอยู่เบื้องหน้าเธอ เขามิใช่ทหารอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นศาสนาจารย์ประจำโบสถ์แห่งหนึ่งเขาพูด ด้วยสีหน้าเจ็บปวด ว่า 'ผมขอโทษ ผมขอโทษจริงๆ' คิมเข้าไปโอบกอดเขา แล้วตอบว่า 'ไม่เป็นไร ฉันให้อภัย ฉันให้อภัย' ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะให้อภัย โดยเฉพาะกับคนที่ทำร้ายเราปางตาย คิมฟุคเล่าว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความทุกข์ทรมานแก่เธอทั้งกายและทั้งใจ จนเธอเองก็ไม่รู้ ว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างไร แต่แล้วเธอก็พบว่า
สิ่งที่ทำร้ายเธอจริงๆ มิใช่ใครที่ไหน หากได้แก่ความเกลียดชังที่ฝังแน่นในใจเธอนั่นเอง ฉันพบว่าการบ่มเพาะความเกลียดเอาไว้สามารถฆ่าฉันได้' เธอพยายามสวดมนต์ และแผ่เมตตาให้ศัตรู และแก่คนที่ก่อความทุกข์
ให้เธอ แล้วเธอก็พบว่า 'หัวใจฉันมีความอ่อนโยนมากขึ้นเรื่อยๆ เดี๋ยวนี้ฉันสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องเกลียด' เราไม่อาจควบคุมกำกับผู้คนให้ทำดี หรือไม่ทำชั่วกับเราได้ แต่เราสามารถควบคุมกำกับจิตใจของเราได้ เราไม่อาจเลือกได้ว่า รอบตัวเรา ต้องมีแต่คนน่ารัก พูดจาอ่อนหวาน แต่เราสามารถเลือกได้ว่า จะทำใจอย่างไร เมื่อประสบกับสิ่งไม่พึงปรารถนา
ที่มาข้อมูล : http://allmysteryworld.blogspot.com/2012/05/kim-phuc.html#ixzz1yQNq2LL5 |
 |
 |
 |
|
คิม ฟุค หลังถูกไฟลวก |
คิม ฟุค ขณะรับเชิญมาพูดที่วอชิงตัน ดี.ซี. |
คิมฟุค กับรูปภาพตัวเองในพิพิธภัณฑ์ หลังเหตุการณ์ 25 ปี |
|
ภาพลูกน้อยร้องให้หน้าหลุมหลบภัย |
ภาพแห่งความเหี้ยมโหดของสงครามที่แสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ ซากสงครามในกรุงโฮจิมินห์สะท้อนให้เห็นความยากลำบาก ความทุกข์ทรมาน ของชาวเวียดนามจากสงครามเวียดนาม ภาพของเด็ก ผู้หญิง คนชรา และชาวบ้านทั่วไปตายเกลื่อนกลาดจากระเบิดที่อเมริกานำมาถล่ม บางภาพเป็นลูกน้อยสองสามคนนั่งร้องไห้มองดูศพพ่ออยู่ใกล้หลุมหลบภัย เพราะเมื่อระเบิดถล่ม พ่อแม่จะให้ลูกๆ วิ่งลงหลุมหลบภัยก่อนแล้วตัวเองจึงลงภายหลัง แต่ว่าระเบิดไม่มีตา มันไม่ได้สนใจหรอกว่า คนเข้าไปหลุมหลบภัยหมดหรือยัง ทันทีที่ตกถึงพื้น มันก็แสดงแสนยานุภาพของมันอย่างเต็มความสามารถ ภาพสงครามที่แสดงในพิพิธภัณฑ์ได้สร้างความสะเทือนใจแก่ผู้เข้าชมไม่น้อย นึกไม่ถึงว่าเป็นน้ำมือการกระทำของมนุษย์ด้วยกันเอง ปัจจุบันมีชาวเวียดนามที่มีอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไปจำนวนไม่น้อยที่เป็นลูกกำพร้า เนื่องจากพ่อแม่และญาติพี่น้องมาล้มตายจากการทิ้งระเบิดถล่มเมือง ในสถานการณ์เช่นนั้นทำให้ผู้ที่เป็นพ่อแม่ต้องตายจำนวนมาก เพราะพ่อแม่ไม่อาจอยู่ในหลุมหลบภัยได้ตลอดเวลา ต้องออกมาหุงหาอาหารเลี้ยงลูกๆ อีกทั้งระเบิดที่ถล่มก็ไม่เป็นเวลาแน่นอน บางทีมาตอนกลางคืน บางทีก็มาตอนเช้ามืด |
พิพิธภัณฑ์อีกแห่งที่น่าสนใจในเมืองฮานอย คือพิพิธภัณฑ์ทหาร ได้รบรวมเหตุการณ์การต่อสู้ระหว่างเวียดนามกับชาติตะวันตก รวมถึงชัยชนะของเวียดนามที่สมรภูมิ “เดียนเบียนฟู” และที่สำคัญ คือสงครามรวมชาติระหว่างเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้ โดยชัยชนะตกเป็นของเวียดนามเหนือจนสามารถผนวกดินแดนเวียดนามให้เป็นหนึ่งเดียวจนถึงปัจจุบันอีกแห่งหนึ่งคือ พิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์อยู่ในกรุงฮานอย เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงชีวประวัติของวีรบุรุษคนสำคัญของเวียดนาม คือ “โฮจิมินห์” นับตั่งแต่เกิด บ้านเกิด จนถึงการเข้าสู่ขบวนการกู้ชาติ และประวัติผลงานด้านต่างๆ
จากการได้ไปสัมผัสกับประเทศเวียดนาม ผู้เขียนได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อเสาะแสวงหาข้อมูลที่ต้องการเกี่ยวกับเวียดนามเพราะไม่ทราบว่าจะมีโอกาสกลับไปเยี่ยมดินแดนมังกรน้อยอีกเมื่อไร หรืออาจจะไม่มีโอกาสเลยก็ได้ จึงได้นำเอาเรื่องราวบางแง่มุมมาเล่าสู่กันฟัง แฮนกั๊บไล แปลว่า ลาก่อน |
ภาพประวัติศาสตร์ความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสที่เดียน เบียน ฟู |
 |
 |
 |
สาวเวียดนามชุดประจำชาติ |
ชุดนักเรียนมัธยมปลาย |
สาวเวียดนามในชุดทั่วไป |
หมายเหตุ : บทความนี้ เคยตีพิมพ์ในวารสารพุทธจักร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ วารสารข่วงผญา ของ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ผู้เขียน : บุญเพียร แก้ววงค์น้อย info@dekdeemedia.com / 081-1120563 / www.dekdeemedia.com
|
|
|
|
 |
|
 |
Tag : vietnam,เวียดนาม มังกรน้อยแห่งอินโดจีน,บทความ, ความรู้เกี่ยวกับเวียดนาม,ประเทศเวียดนาม,สงครามเวียดนาม, อาเซียน,ญวน,ฮาลอง,เว้,ฮานอย, ข้อมูลอาเซียน,อาเซียนศึกษา
|
|
|